ในทุก ๆ ปี สำหรับประเทศไทย เมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน วันจักรี Chakri Memorial Day คืออีกหนึ่งวันสำคัญของชาวสยาม เนื่องจากวันจักรี คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2325 ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี จึงเป็นวันที่คนไทยทุกคนถึงระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือพระรามาธิบดีที่ 1 และ มหาจักรรีบรมราชวงศ์ทุกพระองค์
ประวัติวันจักรี รัชการที่ 1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 คือ พระราชโอรสของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก หรือ พระอักษรสุนทรทองดี (หลวงพินิจอักษร) กับพระราชมารดาหยก ได้พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ.2779 และมีพระนามว่า “ทองด้วง” และสมรสกับธิดาคหบดีอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
จากนั้นได้มีโอกาสเข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งที่พระเจ้าตากได้กอบกู้อิสรภาพและสร้างกรุงธนบุรีเป็นราชธานี หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ.2310 และด้วยพระปรีชาสามารถในการสู้รบจนเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าตาก ได้เป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในการรบสำคัญ ๆ หลายครั้ง จนกระทั่ง พ.ศ. 2319 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก”
พ.ศ.2325 บ้านเมืองเกิดการจลาจล พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเข้าปราบปราบจนเหตุการณ์สงบลง ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอันเชิญพระองค์ปราบดาเป็นกษัตริย์ขึ้นครองราช เป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี จากนั้นพระองค์โปรดให้สร้างราชธานีฝั่งตะวันออกของแม่น้าเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ถัดจากกรุงธนบุรี และทรงย้ายมาประทับใน พ.ศ.2327 โดยช่วงระหว่างก่อตั้งกรุงเทพมหานครฯ ในปี พ.ศ.2325 ถูกเรียกว่า สมัยรัตนโกสินทร์ และได้มีการสืบสันตติวงศ์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน
รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชกรณียกิจมากมาย โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจทางราชการที่สำคัญที่สุด คือ สงครามเก้าทัพเมื่อปี พ.ศ.2328 นอกจากนี้พระองค์ยังทรงให้มีการชำระกฏหมายบทต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และจารสมุดไว้เป็นหลักฐานถึง 3 ฉบับ อีกทั้งทรงทำนุบำรุงด้านศาสนา ทรงสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์พระอารามและพระพุทธรูปต่าง ๆ อีกมากมาย และโปรดให้สังคายนาพระไตรปิฎก ประดิษฐานไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระราชกรณียกิจของพระรามาธิบดีที่ 1 ด้านวรรณคดีและศิลปกรรม ทรงฟื้นฟูวรรณคดีไทยที่เสื่อมโทรมเมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ทรงอุปถัมภ์และส่งเสริมนักกวีในราชสำนัก โดยมีบทพระราชนิพนธ์สำคัญ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ เป็นต้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2416 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปบูรพากษัตริย์ 4 พระองค์ คือ รัชการที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ประดิษฐานไว้ยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อให้กษัตริย์องค์ต่อ ๆ ไป ข้าราชบริพาร รวมไปถึงประชาชนทั่วไปได้ถวายเคารพสักการะระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งได้ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกระทั่งในรัชสมัยราชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายพระบรมรูปบูรพามหากษัตริย์ 4 พระองค์ประดิษฐาน ณ ประสาทเทพบิดร ภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 โดยรัชกาลที่ 6 ทรงโปรดให้ซ่อมแซมพุทธปรางค์ปราสาท เพื่อเป็นพระที่นั่งสำหรับประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 คือ พระชนกนาถของพระองค์โดยเฉพาะ และได้พระราชทานนามว่า “ปราสาทเทพบิดร” จากนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชโองการประกาศตั้งพิธีวันจักรี โดยเป็นพิธีการถวายบังคมพระบรมรูปขึ้นในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2461 และโปรดฯ ให้วันที่ 6 เมษายน คือ “วันจักรี” สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน
พิธีวันจักรีมีกิจกรรมอะไรบ้าง และ วันจักรีหยุดไหม
เมื่อถึงวันจักรี คือ วันที่ 6 เมษายนของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมศานุวงศ์ไปเป็นประธานพิธีทางศาสนา เพื่อประกอบการบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบุพกษัตริย์ และทรงสักการะพระบรมรูป ณ ปราสาทเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบิดาแห่งแห่งจักรีวงศ์ ที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้า
ฝ่ายทางราษฎร นำโดยนายกรัฐมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ หน่วยงานรัฐบาลและเอกชน รวมไปถึง นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปทุกสาขาอาชีพ พร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ผู้ทรงเสียสละและอุทิศพระองค์เพื่อความสงบร่มเย็นแก่ประชาราษฎร์และประเทศชาติอย่างแท้จริง รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 6 เมษายน วันจักรี เป็นวันหยุดราชการ และหากปีใดวันจักรีตรงกับวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ ให้ถือเป็นวันหยุดชดเชยในวันถัดไป