198 West 21th Street, NY
สุขภาพ อาหาร ไลฟ์สไตล์

5 ทริคลดหวานแบบไม่ต้องฝืน ติดหวานแค่ไหนก็ทำได้แบบไม่ทรมานใจ

แนวโน้มของการเพิ่มราคาน้ำตาล ที่ดูเหมือนว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้บริโภค เพราะอาหารและเครื่องดื่มในบ้านเราส่วนใหญ่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลักเลยก็ว่าได้ แม้ว่าจะมีการรณรงค์ของการลดหวาน เพราะการกินหวานก่อให้เกิดสารพัดโรคตามมา แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังคงติดหวาน จนทำให้อัตราผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน และหลอดเลือดเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าของหวานจะอร่อย แต่การลดหวาน ลดพุง ลดโรค ช่วยให้สุขภาพดี และไม่ดูแก่ก่อนวัย วันนี้ แอดมินจึงมาแจกวิธีลดความหวานในอาหารแบบค่อยเป็นค่อยไป รับรองว่าทำแล้วไม่ทรมานสายหวานแน่นอน 

ทำไมเราจึงติดความหวาน 

การติดรสหวานมาก ๆ ไม่ใช่เรื่องดี เพราะความหวานเป็นบ่อเกิดแห่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิดให้ตามมาได้ แม้ว่าเราจะรู้กันดีอยู่แล้ว แต่การเลิกติดหวานก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลาย ๆ คน จนทำให้เลิกพฤติกรรมการกินหวานของตัวเองไม่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? นั่นเป็นเพราะว่า รสหวาน ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเกิดความเครียดแล้วกินของหวานจะรู้สึกอารมณ์ดีขึ้น หรือบางคนก็ถูกกระตุ้นได้ง่าย เพราะไมว่าจะเดินไปทางไหนแล้วเจอของหวาน ก็จะซื้อไว้ก่อน จนทำให้เลิกติดหวานได้ยาก หรือแม้แต่การกินของหวานเพื่อตอบสนองอารมณ์บางอย่าง เช่น เมื่อรู้สึกเหงา โกรธ หรือรู้สึกเศร้า เสียใจ จึงเลือกกินของหวานเพื่อลบความรู้สึกไม่ดี

5 ทริคลดพฤติกรรมติดหวาน

1. ลดความหวานของเครื่องดื่ม 

โดยเริ่มจากการปรับระดับความหวานของเครื่องดื่มที่สั่งเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำชงประเภทใดก็ตาม จากที่เคยดื่มหวานปกติ หรือระดับความหวาน 100% ให้ลดระดับความหวานลงเรื่อย ๆ เป็น 75% , 50% , 25% ซึ่งขอแนะนำว่าให้ค่อย ๆ ลดระดับลงเรื่อย ๆ เพื่อให้ลิ้นคุ้นเคยกับรสชาติและให้เวลาการปรับตัวของร่างกาย อย่าไปหักดิบเลยทีเดียว เพราะอาจจะยิ่งทำให้รู้สึกโหย และต้องการทานหวานมากกว่าเดิม หรือเปลี่ยนมาดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นที่ดีต่อสุขภาพแทนน้ำหวานชงน้ำตาลทั้งหลายก็ดีไม่น้อยเลย ได้ต้องงด ไม่ต้องอด อร่อยแถมมีประโยชน์ และไม่อ้วน

2. ลดปรุงน้ำตาลเพิ่มในอาหาร 

อาหารที่เราซื้อทานนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงสำเร็จ หรืออาหารตามสั่ง มักจะมีการใส่น้ำตาลระหว่างประกอบอาหาร ก่อนที่จะมาถึงมือเราก่อนอยู๋แล้ว ตังนั้น ควรชิมก่อนปรุงทุกครั้ง ไม่ควรปรุงทันทีด้วยความเคยชิน และหากต้องการปรุงน้ำตาลใส่อาหาร ควรลดปริมาณน้ำตาลที่เติมในแต่ละครั้งลงเรื่อย ๆ ช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัวจนคุ้นชินกับการลดหวานได้ในที่สุด 

3. เลือกทานแต่ของมีประโยชน์เป็นของว่างแทนขนมหวาน

หลายคนมักจะมีของหวานเป็นของว่างทานเล่นระหว่างวัน หรือมักจะทานตบท้ายมื้ออาหารเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ เบเกอรี่ หรือไอศกรีม ให้ลองเปลี่ยนมาทานธัญพืชต่าง ๆ เช่น อัลมอนด์ กราโนล่า ถั่วต้ม ฟักทองนึ่ง กล้วยอบ เป็นต้น เพราะไม่ต้องงดอาหารว่างจนอาจทำให้รู้สึกเหงาปาก แต่ยังได้สารอาหารที่มีประโยชน์ วิตามิน และไฟเบอร์สูง ดีต่อสุขภาพ และไม่ทำให้อ้วนหรือลงพุงอีกด้วย 

4. เลือกทานผัก ผลไม้ ที่มีน้ำตาลน้อย 

ผลไม้ไทยหลายชนิดมีน้ำตาลธรรมชาติสูง แม้ว่าขึ้นชื่อว่าเป็นผลไม้ มีประโยชน์ แต่ก็แอบแฝงไปด้วยปริมาณน้ำตาลสูงที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หากทานมากเกินไป ดังนั้น ควรทานผลไม้ที่มีรสหวานในปริมาณที่พอดี และควรเลือกทานผักผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น อะโวคาโด มะระกอ ฝรั่ง กีวี่ ผักกาด แครอท บรอกโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น ผักผลไม้เหล่านี้มีใยอาหารสูง ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล และยังช่วยทำให้รู้สึกอิ่มนาน ลดความอยากของหวานได้ 

5. ดื่มน้ำเปล่าบ่อย ๆ 

การจิบน้ำบ่อย ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ทำให้ไม่รู้สึกหิว ช่วยลดความรู้สึกอยากของหวานได้ ดังนั้น เมื่อไรที่รู้สึกร่างกายอยากทานของหวาน ๆ ให้ดื่มน้ำเปล่า 1 แก้ว จะช่วยลดความอยากของหวานลง 

นอกจากนี้ การพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารฮอร์โมนความสุข ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ไม่เกิดความเครียดง่าย ก็จะทำให้ร่างกายไม่รู้สึกอยากได้ความหวานมาชดเชยในส่วนอื่น ๆ ทำให้ลดหวานได้โดยปริยายแบบไม่ทรมานใจ แต่ถ้าเห็นของหวานแล้วรู้สึกอดไม่ได้ อันนี้คงไม่เกี่ยวกับร่างกาย แต่อาจต้องฝึกด้านการควบคุมจิตใจแล้วล่ะ