198 West 21th Street, NY
ความรู้ สุขภาพ

เลิก 5 พฤติกรรม ถ้าไม่อยาก “ปวดหลัง” 

“อาการปวดหลัง” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน โดยเฉพาะ วัยทำงาน บางคนปวดหลังเล็กน้อย บางคนปวดหลังมาก และบางคนปวดหลังขนาดที่ต้องหาหมอเฉพาะทาง ซึ่งอาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ออฟฟิศซินโดรม โรคบางชนิด และ พฤติกรรมในกิจวัตรประจำวัน

หากคุณมีอาการปวดหลังอยู่ ลองเช็กกันหน่อย เราทำพฤติกรรมเหล่านี้อยู่บ้างไหม เพราะมันอาจเป็นสาเหตุทำให้ปวดหลังที่เป็นอยู่ จะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และถ้ายังไม่หาย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี

1. นั่งนาน 

พฤติกรรมการนั่งนาน ไม่ได้มีแต่คนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือ นั่งทำงานในออฟฟิศ เท่านั้น แต่ยังหมายถึง การที่นั่งท่าเดิมนาน ๆ นั่งขับรถเป็นเวลานาน นั่งเล่นเกมในท่าเดิมนาน ๆ ทำให้กระดูกสันหลังไม่ได้มีการเคลื่อนไหว จึงเกิดอาการเกร็งกล้ามเนื้อหลัง ทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนล้า รวมไปถึงต้นคอ สะบัก บ่าไหล่ เอว และสะโพก เนื่องจากเป็นกล้ามเนื้อที่เชื่อมโยงกัน จึงอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เหล่านี้ตามมาได้ หรืออาจมีอาการปวดที่ใดที่หนึ่ง 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : พยายามลุกออกจากที่นั่งบ่อย ๆ หรือปรับเปลี่ยนท่านั่งทุก ๆ 30 – 60 นาที หากิจกรรมที่ช่วยยืดหยุ่นกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลัง เช่น ว่ายน้ำ เล่นโยคะ เป็นต้น 

2. เอี้ยวตัวหยิบของ 

ใครที่เคยเอี้ยวตัวหยิบของกระทันหัน หรือเอี้ยวตัวไปหยิบของที่เบาะหลังรถ คงเคยเจออาการปวดหลังแปล๊บทันที การเอี้ยวตัวแบบรวดเร็วเป็นสาเหตุทำให้ปวดหลังส่วนกลาง จึงต้องระมัดระวัง เพราะบางคนอาจแค่รู้สึกปวดเสียวสันหลัง รู้สึกปวดแปล๊บ ๆ พักเดียวก็หาย แต่ถ้าเป็นบ่อย ๆ ก็จะเกิดการสะสม ทำให้กล้ามเนื้อหลังอักเสบจนเกิดอาการปวดหลังรุนแรงได้ และบางรายอาจปวดหลังมากจากการเอี้ยวตัวหยิบของจนต้องไปหาหมอเพื่อทำการรักษา 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : หลีกเลี่ยงการหยิบของด้วยการเอี้ยวตัว แต่ให้หันหน้าตรงไปหยิบของแทน เพื่อไม่ให้กระทบต่อกล้ามเนื้อหลังส่วนกลาง ช่วยป้องกันไม่ให้ปวดหลังแก่ผู้ที่ยังไม่มีอาการ และไม่เป็นการเพิ่มอาการปวดหลังให้ในรายที่เป็นอยู่

3. ยกของหนัก 

ผู้ที่ยกของหนักเป็นประจำ มักมีอาการปวดหลังตามมาเสมอ เพราะการยกของหนัก ทำให้กล้ามเนื้อต้องทำงานหนัก จากการแบกรับน้ำหนักที่มากเกินไป เป็นสาเหตุของกระดูกกดทับ หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว และการยกของหนักบ่อย ๆ จะยิ่งทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ หากไม่ได้รับการรักษา หรือไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จะกลายเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง หรือมีอาการปวดหลังรุนแรงตามมา 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : หากจำเป็นต้องยกของหนัก ควรใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถเข็น รถเลื่อน กระเป๋าลาก เพื่อช่วยเคลื่อนย้ายสิ่งของ กรณีกระเป๋าใส่ของส่วนตัว ก็ควรจัดกระเป๋าให้มีน้ำหนักไม่เกิน 10% ของน้ำหนักตัว เพื่อไม่ให้น้ำหนักวัตถุไปกดทับกล้ามเนื้อมากเกินไป จนกลายเป็นสาเหตุของอาการปวดหลัง

4. นอนคว่ำเล่นสมาร์ทโฟน 

หลายคนติดนิสัยการนอนคว่ำ ไม่ว่าจะเป็นการนอนคว่ำอ่านหนังสือ นอนคว่ำทำการบ้าน และ การนอนคว่ำเล่นมือถือ แม้ว่าจะรู้สึกผ่อนคลายในช่วงแรก แต่การนอนคว่ำส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลังโดยตรง ทำให้กระดูกสันหลังตึง เสี่ยงต่อการเกิดอาการกระดูกสันหลังผิดรูป และมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังช่วงกระดูกเชิงกราน ยิ่งนอนคว่ำบ่อย ๆ จะยิ่งทำให้กระดูกสันหลังสะสมการบิดเบี้ยวไปเรื่อย ๆ และอาการปวดหลังจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : สำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการปวดหลัง ควรปรับวิธีการทำกิจกรรมดังกล่าว ด้วยการนั่งทำการบ้าน อ่านหนังสือ และนั่งเล่นสมาร์ทโฟน โดยปรับการตั้งวัตถุแต่ละชนิดให้พอดีกับสายตา จะได้ไม่ต้องก้มมาก เพื่อป้องกันอาการปวดคอ และถ้าจะให้ดี ควรลดการเล่นมือถือนาน ๆ หากิจกรรมอย่างอื่นทำแทน เช่น ออกกำลังกาย เล่นกับสัตว์เลี้ยง ปลูกต้นไม้ หรือ การเหยียดยืดร่างกายและกล้ามเนื้อ อย่างการเล่นโยคะ ก็ช่วยลดอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี  

5. ยืนทิ้งน้ำหนักบนขาข้างเดียว 

การยืนนาน ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ปวดหลัง และยิ่งเป็นการยืนที่ทิ้งน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ ยิ่งส่งผลให้กระดูกสันหลังเสียความสมดุล เพราะข้างที่ต้องรับน้ำหนักมีการเกร็งของกล้ามเนื้อมากกว่าอีกข้าง จึงเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการปวดหลังได้ 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : เมื่อต้องยืนนาน ๆ ควรปรับเปลี่ยนลงไปนั่งบ้าง หรือถ้าทำงานที่ต้องยืนนาน ๆ โดยไม่สามารถนั่งได้ ให้เปลี่ยนอิริยาบทด้วยการเดิน หาโอกาสยืดเหยียดขาบ้าง เพื่อให้กล้านเนื้อได้ผ่อนคลาย ช่วยลดอาการปวดขา และอาการปวดหลังได้ 

ติดตามข่าวสารและสาระน่ารู้อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ The Venn Media