198 West 21th Street, NY
ความรู้ บ้านและสวน สุขภาพ อาหาร ไลฟ์สไตล์

แหล่งรวมเชื้อโรคในครัวที่คุณอาจคาดไม่ถึง

ครัว คือ บริเวณที่เราใช้ประกอบอาหาร และอาจเป็นที่ทานข้าวในคราวเดียวกันของหลาย ๆ บ้าน บริเวณนี้จึงต้องเน้นความสะอาด เพื่อให้ถูกสุขลักษณะอนามัยที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ในครัวก็ต้องมีถังใส่ขยะเศษอาหารและขยะอื่น ๆ ภายในครัว และเรามักจะคิดว่าเพียงแค่บริเวณถังขยะเท่านั้นที่สกปรก แต่ที่จริงยังบริเวณอื่น ๆ ภายในครัวที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคอย่างคาดไม่ถึง แต่จะมีบริเวณไหนบ้างนั้น ไปดูกันเลยค่ะ 

ถังขยะ 

แน่นอน ถังขยะและบริเวณใกล้เคียงถังขยะ ถือเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคอันดับแรก ๆ ในครัวที่เรานึกถึง เพราะเป็นแหล่งรวมของขยะทุกประเภทจากการเตรียมและปรุงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นขยะสด อาหารดิบ เศษผัก เปลือกผลไม้ เพื่อป้องกันกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และป้องกันสัตว์ แมลงต่าง ๆ มาวุ่นวาย จึงควรเลือกใช้ถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด และนำขยะเศษอาหารไปทิ้ง หรือจะเลือกใช้เครื่องกำจัดเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยก็ยิ่งสะดวก เพราะนอกจากจะช่วยกำจัดเศษอาหารจนทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็น ไร้ปัญหาเรื่องมด หนู แมลงต่าง ๆ มารบกวน ยังได้ปุ๋ยออแกนิกจากเศษอาหารในบ้านฟรี ๆ นำไปใช้ปลูกต้นไม้ต่อได้อีก ลดปัญหาขยะอาหารล้นโลก แถมยังได้ห้องครัวสะอาด ไม่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรค 

อ่างล้างจาน 

บริเวณอ่างล้างจานมักจะมีการปนเปื้อนจากวัสดุ อุปกรณ์ และของใช้ต่าง ๆ เช่น จาน ชาม ถ้วย กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ที่ใช้ปรุงและใส่อาหารอยู่ทุกมื้อ หรือแม้แต่ ฟองน้ำ ผ้าเช็ดโต๊ะต่าง ๆ ไหนจะเป็นที่ใช้เตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ดิบ บริเวณอ่างล้างจานจึงเป็นสถานที่รวมของเชื้อโรคสารพัด หากทำความสะอาดไม่ดี ก็จะเกิดการสะสมและกลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสี่ยงต่อการปนเปื้อน เราจึงควรหมั่นทำความสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง และล้างทำความสะอาดอ่างล้างจาน รวมถึงบริเวณใกล้เคียงก่อนการเตรียมวัตถุดิบที่จะปรุงอาหารทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการล้างผัก ผลไม้ หรือล้างเนื้อสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงเชื้อโรคปนเปื้อนอาหาร

ฟองน้ำล้างจาน  และ ผ้าเช็ดทำความสะอาด 

ฟองน้ำล้างจาน ผ้าเช็ดจาน ผ้าเช็ดทำความสะอาด เป็นแหล่งเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผ้าและฟองน้ำล้างจานที่เปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อนำมาใช้ล้างจานหรือเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณต่าง ๆ ยิ่งทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียแพร่กระจายไปทั่ว วิธีแก้ไขคือ หมั่นล้างฟองน้ำให้สะอาด และบิดไล่น้ำออกจากฟองน้ำให้แห้ง และนำไปตากแดดให้แห้งเป็นประจำ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในฟองน้ำ อีกทั้งควรเปลี่ยนฟองน้ำล้างจานใหม่ทุกเดือน และควรเลือกใช้ฟองน้ำให้เหมาะกับสมกับภาชนะชนิดต่าง ๆ เพื่อป้องกันการขูดขีดเป็นรอยแก่ภาชนะ จากการใช้ฟองน้ำผิดประเภทกับพื้นผิววัสดุ สำหรับผ้าต่าง ๆ ที่ใช้ทำความสะอาดในครัว ควรหมั่นซักทำความสะอาดและตากแดดฆ่าเชื้ออยู่เสมอ 

เคาน์เตอร์  เขียง

บริเวณพื้นผิวที่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น เขียง หรือ เคาน์เตอร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับอาหารดิบ หรือแม้แต่อาหารสุกแล้วก็ตาม ดังนั้น จึงควรทำการแยกอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับอาหารดิบ และอาหารสุกออกจากกันให้ชัดเจน ทั้ง มีด เขียง จาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค และไม่ควรเลือกใช้เขียงไม้ เพราะเขียงไม้เกิดรอยขูดขีดได้ง่าย ทำให้เกิดร่องและกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้ง่าย และควรทำความสะอาดอุปกรณ์ เขียง และบริเวณเคาน์เตอร์หลังการใช้งานทุกครั้ง

ตู้เย็น ตู้กับข้าว

ตู้เย็น ตู้กับข้าว ก็เป็นอีกบริเวณและพื้นที่สะสมเชื้อโรค เพราะเป็นบริเวณที่เก็บรวมทั้งอาหารดิบ ของสด และอาหารพร้อมทาน ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย และหากทำความสะอาดไม่ทั่วถึง ยิ่งทำให้กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะแบคทีเรีย และเมื่อเรากินอาหารเข้าไป ก็จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ท้องร่วง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ เป็นต้น ดังนั้น ควรแยกประเภทการเก็บอาหารในตู้เย็นให้เหมาะสม ทำความสะอาดตู้เย็นและตู้กับข้าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 

พื้นผิวที่ต้องสัมผัสบ่อย ๆ 

พื้นผิวบริเวณในครัวที่เราต้องมีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ลิ้นชักเก็บอุปกรณ์ ประตูตู้เย็น ลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ลูกบิดเตาประกอบอาหาร เป็นต้น ซี่งพื้นผิววัสดุเหล่านี้ ย่อมต้องมีการสัมผัสบ่อยเมื่อต้องประกอบอาหาร อาจมีการสัมผัสอาหารดิบ แล้วไปสัมผัสบริเวณดังกล่าว ทำให้มีเชื้อโรคติดเกาะบริเวณเหล่านั้น และเมื่อเราใช้มือสัมผัสพื้นผิวและไปหยิบจับอาหาร ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารโดยที่เราไม่คาดคิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังประกอบอาหาร และควรทำความสะอาดพื้นผิววัสดุเป็นประจำ เพื่อลดการสะสมและแพร่ะกระจายเชื้อโรค 

เตาประกอบอาหาร 

เตาประกอบอาหารมักมีเศษอาหารตกหล่น หรือติดตามซอกและบริเวณรอบ ๆ เตา รวมไปถึงเครื่องปรุง คราบน้ำมัน ที่กระเด็นหรือหกหล่นรอบ ๆ บริเวณเตา จึงถือว่าเป็นอีกบริเวณที่เสี่ยงต่อการเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคเช่นกัน จึงควรเช็ดทำความสะอาดเตาทุกครั้งหลังจากใช้งาน 

สบู่ก้อนสำหรับล้างมือ 

สบู่ก้อนที่วางไว้สำหรับล้างทำความสะอาด เป็นอีกบริเวณที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี หากวางสบู่ก้อนให้มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา ควรวางสบู่ในภาชนะที่ระบายน้ำออกได้ดี หรือเลือกใช้เป็นสบู่เหลวบรรจุขวดที่มีฝาปิดมิดชิด สะดวกต่อการใช้งาน