เชื่อว่า คนวัยทำงานหลายคนที่ประสบปัญหากับการ เป็นหนี้บัตรเครดิต ที่อำนวยความสะดวกในการจับจ่าย รูดปื๊ด รูดปื๊ด ง่ายยย แต่หืดขึ้นคอตอนจะจ่ายหนี้บัตรนี่สิ แล้วรู้ไหมว่า หากผิดชำระหนี้ จนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อดำเนินตามกฏหมาย เป็นหนี้บัตรเครดิตเท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง เจ้าหนี้บัตรเครดิตสามารถอายัดเงินได้เท่าไร
หลายคนที่มักจะไม่รู้ เพราะไม่ได้ศึกษาข้อมูล และมักจะโดนอายัดเงินเดือน จนแทบจะไม่มีเหลือให้ใช้ และต้องกดบัตรอื่นมาใช้ หรือหาหยิบยืมจากที่อื่นมาใช้ หมุนวนไม่จบสิ้น เงินต้นไม่มีวันหมด หากเงินดอกยังคงทบไปเรื่อย ๆ อาจทำให้บางคนเกิดความเครียดจนไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดจากการมีหนี้สินล้นตัว จนกลายเป็นสาเหตุความสูญเสียตามมาในที่สุด เราจะมาบอกความลับว่า เจ้าหนี้บัตรเครดิตสามารถอายัดเงินได้เท่าไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ลูกหนี้บัตรทั้งหลายจะต้องรู้เท่าทัน เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และสามารถวางระบบเพื่อจัดการรายจ่ายให้ดี
กฏหมายอายัดเงินเดือนล่าสุดได้ระบุไว้ชัดเจนว่า หากเงินเดือน 20,000 บาท หรือเงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดเงินเดือนคุณได้ โดยบังคับห้ามมีการอายัดเงินเดือนลูกหนี้ ยกเว้นเสียแต่ลูกหนี้จะยินยอมชดใช้ให้เอง
เนื่องจากราชกิจจานุเบกษา ได้มีประกาศ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ระบุลูกหนี้เงินเดือนไม่เกิน 2 หมื่นบาท บังคับคดีอายัดเงินเดือนไม่ได้ จากเดิมที่เคยบังคับใช้ 10,000 บาท ตามมาตรา302 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 ด้าน กรมบังคับคดี แจ้งปรับเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน หลังจากที่มีการใช้ข้อกฏหายเดิมมานานกว่า 20 ปี
การเปลี่ยนและระบุเงินไม่เกิน 2 หมื่นบาทนี้ เพื่อกันไว้ให้สำหรับลูกหนี้ได้ใช้ดำรงชีพ ไม่ใช่เพื่อใช้หนี้อื่น ๆ แต่ถ้าเงินเดือนเกิน 2 หมื่นบาท เจ้าหนี้จะสามารถอายัดเงินส่วนเกินได้ โดยจะต้องคงเงินไว้ให้ลูกหนี้ใน 2 หมื่นบาท เช่น เงินเดือนลูกหนี้ 25,000 บาท เจ้าหนี้สามารถอายัดเงินเดือนได้ 5,000 บาท เป็นต้น เพื่อเว้นวงเงิน 2 หมื่นบาทแรก จากเดิมกำหนดว่า 10,000 บาทแรก ที่เจ้าหนี้ไม่สามารพอายัดได้ มีการเปลี่ยนวงเงินเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพสูงขึ้นนั่นเอง
เจ้าหนี้สามารถอายัดเงินเดือนเราได้หรือไม่
แม้ว่าการบังคับคดีกฏหมายใหม่จะระบุวงเงิน 2 หมื่นแรกที่เจ้าหนี้ไม่สามารถอายัดได้ แต่เจ้าหนี้จะไปยึดในส่วนของค่าโอที โบนัส เงินสงเคราะห์ เงินตอบแทนการออกจากงาน เงินฝากในธนาคาร เงินปันผลที่ลูกหนี้ได้รับ เช่น ค่าเช่าต่าง ๆ ที่ลูกหนี้ได้รับ หรือในส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ ตามดุลพินิจของศาลแทน แต่จะไม่สามารถอายัดได้ทั้งหมด จะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ใช้ด้วย
- เงินเดือน ในกฏหมายเก่าจะสามารถอายัดไม่เกิน 30% ของรายรับรวมกันทั้งหมดของเดือนนั้น ๆ ที่ได้รับ ไม่ใช่คิดจากฐานเงินเดือนอย่างเดียว ส่วนกฏหมายใหม่จะคิด 30% ของอัตราเงินเดือนก่อนหักรายจ่าย และต้องมีเงินเหลือให้ลูกหนี้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 20,000 บาท (ซึ่งใน 2 หมื่นบาทนี้ ลูกหนี้อาจถูกหักค่าประกันสังคม ค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฯลฯ อาจเหลือเงินใช้สุทธิประมาณ 15,000 บาท / เดือน)
- เงินโบนัส อายัดไม่เกิน 50% ของเงินที่ได้รับ
- เงินเลี้ยงชีพ ค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน อายัดไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้รับ
- เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน อายัดได้ แต่ต้องเหลือไม่น้อยกว่า 300,000 บาท
ขอลดหย่อนเงินที่ถูกหักได้หรือไม่
ลูกหนี้สามารถขอทำเรื่องลดหย่อนการอายัดเงินเดือน โดยเขียนคำร้องที่กรมบังคับคดี เพื่อบรรเทาควาเดือดร้อนจากการดำรงชีพในแต่ละเดือนได้ แต่จะไม่สามารถร้องขอทำการลดหย่อนอายัดเงินประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนได้เลย อาทิ
- เงินชดเชยจากการออกจากงานที่ไม่มีความผิด เช่น นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้ออกจากงาน 1 ล้านบาท จะโดนอายัดทั้งหมด ไม่สามารถร้องขอลดหย่อนได้
- เงินโบนัส (เงินโบนัสประจำปี โบนัสทุก 6 เดือน หรือ เงินปันผลกำไรบริษัท ฯลฯ) จะโดนอายัด 50% หรือครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมด โดยไม่สามารถขอลดอายัดได้
- ค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเป็นลักษณะผลกำไรที่ได้รับเป็นประจำทุกเดือน ถือว่าเป็นรายรับประจำเดือนเช่นกัน จึงสามารถทำการขอลดหย่อนอายัดได้
แต่ในกรณีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากนั้นจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลด้วยว่าจะสามารถลดหย่อนได้หรือไม่ แต่จะให้ดี หากมีหนี้ก็พยายามชำระหนี้ให้ถูกต้องตามกำหนดจะดีกว่า จะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการดำเนินเรื่องเอกสารและการดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ต้องติด Blacklist เครดิตบูโร และการมีประวัติการชำระหนี้ดี ก็จะง่ายต่อการยื่นเรื่องธุรกรรมการเงินในด้านอื่น ๆ มากกว่าเครดิตเสีย แต่ถ้าเกิดปัญหาที่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรศึกษาข้อมูลและมีความรู้ติดตัวไว้ดีกว่าค่ะ