โรคข้อเข่าเสื่อม (Knee Osteoarthritis) เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ ทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้างการทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อ และเมื่อเนื้อกระดูกที่ไม่มีผิวกระดูกอ่อนห่อหุ้มเกิดการชนกันขณะที่รับน้ำหนัก ทำให้มีอาการเจ็บปวด ส่วนอาการเสียงดังที่เรามักจะได้ยินกรอบแกรบเวลาเคลื่อนไหวนั้น เกิดจากการที่ข้อเข่าสึกกร่อนเรื้อรังแล้วกระดูกทำการซ่อมแซมตนเอง จนมีกระดูกงอกภายในข้ออย่างระเกระกะ และเกิดเสียงขึ้นเมื่อมีการขยับในส่วนบริเวณนั้นนั่นเอง
ปัจจัยที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม
- อายุมากขึ้น ประสิทธิภาพการซ่อมแซมตัวเองของผิวในข้อกระดูกอ่อนเสื่อมลง ทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมและข้อเข่าอักเสบได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
- น้ำหนัก เนื่องจากหัวเข่าเป็นอวัยวะที่ต้องรองรับน้ำหนัก รวมถึงแรงกดทับในทุกการเคลื่อนไหวของร่างกาย น้ำหนักตัวมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดทับให้กับข้อเข่ามากขึ้นตามไปด้วย
- พฤติกรรมการใช้หัวเข่า การใช้หัวเข่าที่มากเกินไป เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือแม้แต่การนั่งยองๆ หากใช้เวลาในอิริยาบถเหล่านี้นานเท่าไร ยิ่งทำให้เกิดแรงกดบริเวณข้อเข่ามากขึ้น
- อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือจากการเล่นกีฬา การที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าจากสาเหตุต่างๆเหล่านี้ ล้วนแต่จะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม
- โรคประจำตัว เช่น โรครูมาตอยด์ โรค SLE เป็นต้น
- เพศ เนื่องจากเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าเพศชาย
อาการข้อเข่าเสื่อม สังเกตอย่างไร
- ปวดบริเวณข้อเข่า หรือปวดเข่ามาก เมื่อต้องลุก-นั่ง ขึ้น-ลงบันได หรือ เมื่อต้องนั่งพับเพียบ
- มีเสียงดังในข้อเข่าเมื่อเคลื่อนไหว หรือขยับแล้วรู้สึกถึงการเสียดสี
- เหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด หรือมีอาการข้อเข่าติด
- มีอาการข้อเข่าฝืดขัด โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช้า หรือเมื่อต้องหยุดเคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ
- ข้อเข่ามีอาการแดง บวม โตผิดปกติ เนื่องจากมีน้ำภายในข้อจากการอักเสบ
- กล้ามเนื้อขาลีบเล็กกว่าอีกข้าง
- ข้อเข่าโก่ง หรือเบี้ยวผิดรูป
ใครบ้างมีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ผู้ที่มีภาวะอ้วน (โรคอ้วน)
- ผู้หญิง มีโอกาสเป็นได้มากกว่าผู้ชาย
- ผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บที่หัวเข่า
- ผู้ที่ใช้งานหัวเข่ามาก เช่น นั่งยองๆ นั่งคุกเข่า ประจำ
- มีโรคประจำตัว อย่างโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ เช่น โรคเกาต์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- กล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
สัญญาณเตือนของโรคข้อเข่าเสื่อม
หากข้อเข่ามีปัญหาและมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม สังเกตสัญญาณเตือนจากร่างกายได้ 2 ระยะด้วยกัน
ข้อเข่าเสื่อมระยะแรก
เมื่อไรก็ตามที่มีการขยับหรือเคลื่อนไหวบริเวณข้อเข่า จะเกิดเสียงดังในข้อ รู้สึกปวดเข่า การเคลื่อนไหวของเข่าจะขัดๆ และฝืด ยิ่งขยับหรือเดินมาก ก็จะยิ่งปวดมากขึ้นน แต่จะรู้สึกดีขึ้นหรือทุเลาลงเมื่อหยุดเดิน หรือพักการใช้ขา
ข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง
อาการของข้อเข่าระยะรุนแรง จะทวีความเจ็บปวดมากขึ้นทุกครั้งที่มีการขยับหรือเคลื่อนไหว มีเสียงดังในเข่า เหยียดหรืองอเข่าได้ไม่สุดเนื่องจากข้อเข่าติดขัด ล้มได้ง่ายและล้มบ่อยเพราะข้อเข่าหลวม หัวเข่าโก่งงอผิดรูป ส่งผลต่อการเดินและการใช้ชีวิตประจำวัน
หากมีอาการดังนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ด้านข้อและกระดูก เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้แย่่ลง
เมื่อเกิดอาการข้อเข่าเสื่อม รักษาอย่างไร
อาการโรคเข่าเสื่อมรักษาตามการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เช่น การใช้ยากลุ่มสารอาหารเสริมสร้างกระดูก ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ การฉีดสารน้ำเลี้ยงไขข้อ การทำกายภาพบำบัดเพื่อบริหารกล้ามเนื้อรอบหัวเข่า หรือถ้ารักษาด้วยยาและการทำกายภาพแล้วไม่ดีขึ้น และยังคงมีอาการปวดมาก อาจต้องได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม เป็นต้น
การถนอมข้อเข่า
เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่า หรือมีอาการข้อเข่าเสื่อมเร็วเกินไป ก็ควรจะมใช้งานข้อเข่าอย่างถนอม โดยวิธีการถนอมเข่าทำได้ดังต่อไปนี้
- เลี่ยงพฤติกรรมการใช้งานข้อเข่าหนักเกินไป เช่น การนั่งคุกเข่า นั่งยองๆ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งพับเพียบนานๆ การยกของหนัก และอิริยาบถต่างๆที่จะเพิ่มแรงกดทับหัวเข่ามากเกินไป
- ควบคุมน้ำหนัก เพื่อไม่ให้ข้อเข่าต้องรองรับน้ำหนักมากเกินไป
- หมั่นบริหารกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อรอบเข่าให้แข็งแรง เพื่อลดภาระของข้อเข่า
- ออกกำลังกายแต่พอดี ไม่หักโหมเกินไป หลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้แรงปะทะ หรือต้องทำให้หัวเข่ารับน้ำหนักมากเกินไป