198 West 21th Street, NY
ครอบครัว สุขภาพ ไลฟ์สไตล์

ทำไมเราควรมี Self-Awareness Skill และสามารถพัฒนาได้อย่างไร 

หากคุณเคยได้ยินคำว่า Self Awareness แต่ไม่แน่ใจว่าคืออะไร หาคำตอบจากที่นี่ได้เลย พร้อมกับเช็คตัวเอง ว่าสัญญาณอะไรที่ส่อแววว่าจะเป็นตัวคุณเองบ้างไหม แล้วจะมีผลอย่างไร จำเป็นต้องแก้ไขหรือไม่ถ้าเรามี self awareness ต่ำ แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร  ถ้าพร้อมแล้ว ไปทำความรู้จักกับ Self Awareness กันเลย 

Self Awareness คืออะไร

Self Awareness คือ ทักษะที่เราสามารถรับรู้ความรู้สึกอารมณ์ ความคิด และสภาวะจิตใจของตนเอง  รู้ว่าตนรู้สึกไม่ดีเพราะอะไร และสามารถรับมือกับความกังวลที่จะเกิดขึ้นได้ โดยผ่านการรับรู้และสามารถทำความเข้าใจสภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกระบวนการความคิด หรือการรับรู้ทางร่างกาย หรือถ้าจะกระชับใจความ Self Awareness คือ การรู้จักตนเอง 

ทำไมคนเราควรมี Self Awareness

การรู้จักตนเอง คือ การรู้เท่าทันตนเองในทุกสภาวะ ตลอดจนถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่น อันเนื่องมาจากความรู้สึกอารมณ์และความต้องการเหล่านั้นของตน เข้าใจในด้านจุดแข็ง-จุดอ่อน จุดที่ควรพัฒนา สามารถรับมือและจัดการกับมันได้ เช่น รู้ว่าตนกำลังโกรธ  รู้สาเหตุของการโกรธ ทำความเข้าใจกับอารมณ์โกรธ พิจารณาถึงผลกระทบกับตนเองและผู้อื่นจากความโกรธนั้น เมื่อรู้และเข้าใจถึงสภาวะทั้งหมด อารมณ์โกรธก็จะลดลงได้เร็วกว่าคนที่รู้ไม่เท่าทัน แล้วปล่อยให้อารมณ์มันไหลไปเรื่อย โกรธจนทะเลาะกัน หรือลงไม้ลงมือฆ่ากันก็มีอย่างที่เป็นข่าวมากมาย หรือเกิดความโลภอยากได้ เมื่อรู้เท่าทันว่าตนกำลังอยากได้ของคนอื่นที่ไม่ใช่ของๆตน และรู้ว่ามันไม่ดี ก็จะระงับความโลภความอยากได้นั้นลง แต่ถ้ารู้ไม่ทัน และปล่อยให้ความโลภครอบงำ ก็อาจจะลักขโมยของเขามาเพราะความอยากได้ในสิ่งนั้น นั่นเอง 

Self Awareness เป็นทักษะที่จำเป็นมากในยุคปัจจุบัน เพราะการรู้จักตนเองในทุกสภาวะอารมณ์ รู้จักที่จะเห็นคุณค่าในข้อดีของตน รู้ในข้อเสียที่ควรปรับและพัฒนา ฝึกฝนในจุดอ่อนที่มีผลต่อเป้าหมาย หรือยอมรับแล้วให้คนอื่นทำในสิ่งที่ตนเองไม่ถนัดแทน การมี Self Awareness เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการที่จะมีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และต่อยอดไปสู่การบริหารตนเอง (Self-management) ให้สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ เพื่อไม่ให้มันแย่หรือเลวร้ายไปกว่าเดิม โดยอาจทำให้อารมณ์ดีขึ้น หรือทำให้อารมณ์คงที่มากขึ้น 

การตระหนักรู้ไม่ได้ส่งผลแต่ตนเอง แต่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ทั้งที่บ้าน ในครอบครัว ในที่ทำงาน และสังคม เพราะการที่เรารู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง ทำให้เราสามารถจับอารมณ์และความนึกคิดของตนเอง จนสามารถบริหารพฤติกรรมของตนเองได้ เช่น เมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยที่คุณเป็นผู้เขียนเนื้อหางาน แล้วคุณเว้นงานส่วนหนึ่งให้กับเพื่อนร่วมงานได้จัดทำ เพราะเชื่อมั่นว่าเขาจะพิจารณาจากหัวข้อเนื้อหาบทความ และสามารถเข้าใจพร้อมทั้งจัดการรูปแบบภาพประกอบได้ตรงกับเนื้อหางานนั้นๆได้

แต่เมื่อผลงานออกมากลับไม่ใช่อย่างที่คุณคิด และเมื่อต้องมีการแก้งาน หากคุณมีการบริหารในการตระหนักรู้มาก่อน แทนที่จะเอาแต่กล่าวโทษอีกฝ่าย นอกจากงานจะยืดเยื้อ อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างคุณกับเพื่อนร่วมงาน แต่..เพียงแค่คุณเป็นฝ่ายยอมรับผิด และรีบกลับไปแก้ไขในส่วนที่คุณทำได้ พร้อมกับขอความร่วมมือจากอีกฝ่าย เพียงเท่านี้งานก็จะผ่านไปได้โดยที่ไม่ต้องเกิดความบาดหมางหรือเสียความรู้สึกต่อกัน ซึ่งมันย่อมดีกว่า คุณว่าจริงไหม?

ประโยชน์ของ Self-Awareness

การที่เรามีทักษะในการรู้และเข้าใจในตนเอง จะช่วยให้เรารู้จักที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการคิด พฤติกรรม และการใช้ชีวิตของเราได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 

1. รู้จักตัวเองว่ามีนิสัยอย่างไร

คุณจะรู้จักนิสัยของตัวเองได้จากการสังเกตถึงลักษณะที่แท้จริง ว่าเราเป็นคนอย่างไร ชอบอะไร จัดการกับความต้องการของตัวเองอย่างไร ซึ่งจะต้องใช้เวลาและการยอมรับ

2. รู้เป้าหมายในชีวิต

น้อยคนนักที่จะรู้และพบเป้าหมายของชีวิตในเพียงเวลาสั้นๆ เพราะส่วนใหญ่มักจะต้องมีการทดลอง การเรียนรู้ และพบกับความผิดพลาดหลายครั้งกว่าจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ตนต้องการจริงๆ หรือเป็นเป้าหมายที่แท้จริงสำหรับตน และก็มักจะไม่รู้ว่าความสุขของตนจริงๆนั้นคืออะไรกันแน่ การที่จะค้นพบเป้าหมายในชีวิตอาจต้องใช้เวลา ประสบการณ์ และความผิดพลาด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ พิจารณา ไตร่ตรองว่าสิ่งที่ผ่านมา และสิ่งที่กำลังทำอยู่ มันใช่หรือไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการในเป้าหมายชีวิต มันเป็นสิ่งสำคัญที่คุณให้คุณค่าหรือไม่ 

3. รู้จุดเด่น-จุดด้อยของตนเอง

ทำให้เรารู้จุดแข็ง-จุดอ่อน หรือข้อดี-ข้อเสียของตนเอง โดยการสอบถามความคิดเห็นจากผู้อื่น หรือจากการรับฟังเมื่อมีใครแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณ แล้วนำมาพิจารณา ประเมิน และปรับปรุงในจุดด้อยให้ดีขึ้น พัฒนาจุดเด่นที่มีอยู่แล้วให้แข็งแกร่ง หากเป็นเรื่องของการทำงาน จะพบว่าหลายๆองค์กรต้องการคนที่มี Self Awareness Skill เพราะเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะสูง สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ทั้งในอารมณ์และพฤติกรรม ซึ่งเป็นผลดีต่อการทำงานและองค์กร

4. รู้จักตัวเอง

การที่เรารู้จักตัวเองในทุกสภาวะ ทั้งด้านความคิด อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตนเอง จะทำให้มีความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligent) มีสติในการควบคุมตนเอง สามารถเรียนรู้และเข้าใจในผู้อื่นได้ 

วิธีการเพิ่ม Self-Awareness ให้กับตนเอง 

  1. ฝึกเจริญสมาธิ (mindfulness) การฝึกสมาธิจะช่วยให้สติและเกิดปัญญาที่สามารถตระหนักรู้และเข้าใจในตนเอง โดยการรับรู้อย่างเป็นกลางในทุกมิติ ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองทั้งส่วนของร่างกายและส่วนของจิตใจ ทำให้สามารถรับมือและจัดการจนควบคุมได้ (อาจในระดับหนึ่งหรือทั้งหมด) เช่น เราอาจเคยแสดงความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่คิดว่าจะมีผลกระทบกับใครหรือไม่ เพราะข้ออ้างที่ว่าเป็นคนตรงๆ แต่เมื่อเรามีการฝึกฝนสติ ก็จะพัฒนาเพียงแค่อยากจะพูดอยากจะด่าหรืออยากจะแสดงออกไป แต่ก็พยายามปิดปาก ระงับสติอารมณ์ ควบคุมพฤติกรรม ไม่พ่นคำหรือโต้ตอบกลับไป เพราะที่สุดแล้วเราจะเข้าใจได้ว่า เราก็แค่ไม่พอใจ เราก็แค่โกรธ วางความรู้สึกนั้นไว้ข้างๆตัว (ปล่อยวาง) ไม่ต้องโยนไปหาอีกฝ่าย จะได้ไม่ต้องมีการสะท้อนกลับมา (การทะเลาะ) 
  2. ทบทวนตนเอง (reflection) ด้วยการย้อนกลับไปมองในการกระทำของตนเอง แล้วประเมินและวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ได้ทำไปในสถานการณ์นั้นๆ เราทำถูกต้องหรือผิดพลาด มีผลกระทบต่ออะไรและใคร หรือบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งการสะท้อนสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณได้ตระหนักถึงปัญหา และสามารถมองเห็นวิธีแก้ไขที่อาจเคยมองข้ามไป หรือแนวทางใหม่ๆในการแก้ไขปัญหา 
  3. จดบันทึก (Journal) ซึ่งไม่ใช่เป็นการบันทึกแบบจดไดอารี่ทั่วไป แต่เป็นการบันทึกเพื่อช่วยทบทวนและพัฒนาตนเอง โดยการบันทึกว่าในแต่ละวันได้ทำอะไรไปแล้วเกิดผลอย่างไร และสิ่งที่ทำอยู่ช่วยอะไรหรือมีผลอย่างไรต่อเป้าหมายเราได้บ้าง และจะได้มองเห็นว่าอะไรที่เป็นจุดด้อยที่ควรปรับหรือเปลี่ยน และพัฒนาให้ดีขึ้น 
  4. สังเกตตนเอง ด้วยการฝีกฟังเสียงตนเองระหว่างที่เราพูดกับผู้อื่น จะช่วยให้เรารับรู้ความรู้สึกทางอารมณ์ของเราได้ดียิ่งขึ้น หรือใช้การสังเกตคำพูด น้ำเสียง และท่าทางของคู่สนทนา ที่อาจเป็นผลมาจากการแสดงออกของเราเช่นกัน เช่น หากคู่สนทนาพูดด้วยน้ำเสียงไม่พอใจใส่เรา ให้ย้อนกลับมาสำรวจตัวเองว่าเป็นเพราะเราพูดไม่ดี หรือพูดเสียงดังใส่เขาก่อหรือเปล่า เป็นต้น 
  5. การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น โดยจากการถาม feedback จากผู้อื่น อาจเริ่มจากการถามคนใกล้ชิด ที่เราสนิทและไว้ใจ เพื่อเปิดอกเปิดใจแสดงความคิดเห็นและความรู้สึก จะได้รับรู้ในมุมมองของคนอื่นที่มีต่อตน เสมือนเป็นการมองกระจกเพื่อสะท้อนถึงข้อด้อยหรือจุดอ่อนของเราที่อาจไม่รู้ตัว เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาให้ดีขึ้น 

ซึ่งหัวใจสำคัญของการรู้จักตนเอง หรือ Self-Awareness คือ การรับรู้ในความเป็นตัวตนอย่างตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์กับความรู้สึก ความต้องการของตนเองที่แท้จริง ยอมรับในจุดแข็ง-จุดอ่อน ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และพัฒนา ทำให้เราเป็นบุคคลที่มีความเจริญในวุฒิภาวะ เป็นผู้มีปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์