198 West 21th Street, NY
ไลฟ์สไตล์

5 สตรี ผู้มีบทบาทสร้างหน้าประวัติศาสตร์โลก

วันนี้เราจะมาชวนทุกคนย้อนดูบทบาทสตรีที่มีอิทธิพลในการเคลือนไหวทางด้านต่าง ๆ เพื่อเฉลิมฉลอง วันสตรีสากล มี 5 สุภาพสตรีท่านใดบ้างที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์โลก เราไปดูกันเลยค่ะ 

ภาพจาก : https://www.silpa-mag.com/

บูเช็กเทียน ผู้ปกครองแผ่นดินผ่านหลังม่าน

สตรีที่มีบทบาทในประวัติศาสตร์จีน และยังถือว่าเป็นสตรีผู้มีอิทธิพลของโลกในประวัติศาสตร์ คือ พระนางบูเช็กเทียน (Empress Wu) จักรพรรดินีแห่งราชวงศ์ถังของจีน ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่าง ค.ศ.624 – 705 ซึ่งทรงครอบครองทรัพย์สินที่อาจมากกว่าเศรษฐีนีทุกคนในโลกนี้ โดยหากตีมูลค่าทรัพย์สินที่พระองค์ถือครองเป็นตัวเลขในยุคนี้ จะได้มากกว่า 16 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ ถ้าเทียบเป็นเงินไทย จะมากกว่า 500 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว ไม่เพียงแค่ความร่ำรวยของพระองค์เท่านั้น แต่บทบาทที่สำคัญของพระนาง จนถูกจารึกในประวัติศาสตร์ คือ การที่พระนางได้มีพระบรมราชโองการให้ประหารพระราชธิดา และให้ประหารพระราชโอรสที่เป็นจักรพรรดิ์องค์ก่อน ก่อนที่พระนางจะขึ้นปกครองประเทศ โดยมีหน่วยสืบสวนลับให้การช่วยเหลือ และในช่วงรัชสมัยนั้น พระนางบูเช็กเทียนทรงมีอำนาจมาก ไม่ว่าจะแต่งตั้ง-ถอดถอนยศตำแหน่ง หรือจะให้ใครอยู่หรือตายก็ได้ เพียงแค่พระนางสั่งเท่านั้น จะเป็นไปตามนั้นทันที ส่วนด้านการเมืองนั้น พระนางทรงปกครองบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยความปรีชาสามารถ ทำให้ประชาชนใต้การปกครองของพระนางมีความผาสุก ก่อนที่พระนางจะผันตัวเป็นพระพันปีหลวง หลังจากรัชทายาทหลี่ เจ้อ ทรงขึ้นเป็นจักรพรรดิจงจง แทนจักรพรรดิเกาที่สวรรคตในปี ค.ศ.683 แต่ถูกเนรเทศในที่สุดอันมาจากความทะเยอทะยานของมเหสี (ภรรยาของจักรพรรดิจงจง) และขัดแย้งกับพระพันปี จึงทำให้ราชบัลลังก์ตกเป็นของจักรพรรดิรุ่ยจง โดยมี พระนางบูเช็กเทียนคอยชักใยและปกครองผ่านหลังม่าน ในปี ค.ศ. 630 ตราบจนสิ้นรัชสมัยของพระนาง จึงทำให้พระนางบูเช็กเทียนทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกผู้หญิงที่ปกครองประเทศเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์จีน  

ภาพจาก : https://www.atlasobscura.com/

บอร์เต (Borte Ujin) จักรพรรดินี ของ เจงกินข่าน 

บุตรสาวของหัวหน้าเผ่า Konyrat นามว่า บอร์เต ได้ถูกให้หมั้นหมายกับเจงกิสข่าน หรือ เตมูจิน (ชื่อเดิมของเจงกิสข่าน) ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และได้เข้าพิธีแต่งงานกับเตมูจินเมื่ออายุครบ 17 ปี ตามธรรมเนียมเผ่าตน บอร์เต หรือ จักรพรรดินีบอร์เต มีความสามารถรอบด้าน เก่งทั้งบุ๋นและบู๊ โดยมีความฉลาดทางปัญญา เก่งกล้าการยิงธนูและขี่ม้า และยังเป็นที่ปรึกษาให้กับเจงกิสข่านในทุก ๆ เรื่อง รวมไปถึงเรื่องยาก ๆ ในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปกครองหรือในเรื่องของสนามรบก็ตามหากไปสืบดูในทุก ๆ การตัดสินใจที่เกิดผลสำเร็จของเจงกิสข่าน มักจะต้องผ่านการปรึกษาจักรพรรดินีทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น บอร์เตยังมีความสุขุม หนักแน่น ไม่ว่าเจงกิสข่านจะมีชู้รักมากน้อยเพียงใด จนเป็นที่ไว้วางใจจากเจงกิสข่านมาก และยังเป็นที่เคารพรักของประชาชนทุกคนอีกด้วย 

ภาพจาก : https://www.thecollector.com/

ซีโนเบีย (Septimia Zenobia) วีรสตรี แห่งอาณาจักรพัลมีรา 

Zenobia คือ ราชินีแห่งอาณาจักรพัลมีราในยุคโรมัน (ปัจจุบันอยู่ในประเทศซีเรีย) ซีโนเบียเป็นชายาแห่งกษัตริย์โอดาเอนาทุส (Septimius Odaenathus) ผู้ดูแลอาณาจักรฝั่งตะวันออกของโรมันที่กอบกู้มาจากเปอร์เซีย และหลังจากที่กษัตริย์โอดาเอนาทุสถูกลอบพระชนม์ ราชินีซีโนเบียจึงสถาปนาตนเองขึ้นครองราชและปกครองจักรพัลมีรา และทรงนำทัพเข้าต่อกรกับโรมันทันทีในช่วงที่โรมันเกิดความรำส่ำระส่ายในช่วงกลางศตวรรษที่ 3 โดยเริ่มรุกไล่ตีตั้งแต่อาณาจักรทางตะวันออกของโรมันขึ้นไปเรื่อย ๆ ในปี ค.ศ. 269 ได้ตีและเข้ายึดอียิปต์ และอีกหลายอาณาจักร จนกระทั่งได้ประกาศอิสระภาพจากโรมันตามความมุ่งหวัง แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับจักรพรรดิออเรเลียนแห่งโรมันในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น ราชินีซีโนเบียก็ยังคงได้รับการถูกยกย่องและกล่าวขานในฐานะของราชินีผู้แข็งแกร่ง และอาจหาญต่อกรกับอาณาจักรโรมันอันยิ่งใหญ่ โดยที่หาหญิงใดในสมัยนั้นเทียบได้เลย จึงถือว่าพระนางเป็นอีกหนึ่งวีรสตรีในประวัติศาสตร์โลกที่ต้องจารึกไว้  

ภาพจาก : www.florence.co.uk

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล มารดาแห่งวงการพยาบาล

ฟลอเรนซ์ คือ ผู้บุกเบิกดูแลผู้ป่วย พยาบาลคนแรกของโลกที่ใช้ความมุ่งมั่น ความตั้งใจและแรงศรัทธาของตนเปิดโลกของวงการพยาบาลให้กลายเป็นที่ยอมรับ และยังเป็นต้นแบบแห่งการพยาบาลมาจนถึงปัจจุบัน ฟลอเรนซ์เกิดและเติบโตในประเทศอิตาลี และปฏิเสธการแต่งงานเมื่อถึงวัยอันสมควร แต่มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานพยาบาล ซึ่งเป็นอาชีพที่ถูกรังเกียจและตีตราว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำของสังคม ทำให้เธอมีปัญหากับพ่อแม่และถูกโกรธอย่างหนัก แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ จนได้เป็นพยาบาลในที่สุดเมื่อธันวาคม ค.ศ.1844 โดยเริ่มจากการดูแลคนยากไร้ และฝึกฝนเรียนรู้การรักษาดูแลทางการแพทย์ รวมถึงหลักการปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วย จนกระทั่งในปี พ่อของฟลอเรนซ์ได้ล้มป่วยลงในปี ค.ศ.1853 เธอจึงกลับไปดูแลจนอาการป่วยของพ่อเธอนั้นทุเลาลง ทำให้พ่อเข้าใจเธอและเห็นคุณค่าของอาชีพพยาบาลมากขึ้น ต่อจากนั้นไม่นาน ฟลอเรนซ์ได้มีโอกาสไปทำงานที่สถานพยาบาลสำหรับสตรีชั้นสูงจนมีผลงานดีเด่น และยังประสบผลสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยอหิวาตกโรคที่กำลังระบาดหนักในขณะนั้นด้วย จากนั้นฟลอเรนซ์ได้ถูกขอความช่วยเหลือให้ไปช่วยดูแลรักษาพยาบาลให้กับเหล่าทหารอังกฤษที่ไปช่วยพันธมิตรตุรกีรบกับรัสเซียในสงครามไครเมีย ซึ่งในการรบคราวนั้นมีผลให้ทหารอังกฤษล้มตายเป็นจำนวนมาก ฟลอเรนซ์พร้อมกับอาสาสมัครหญิงอีก 34 คน จึงได้ออกเดินทางจากอังกฤษไปยังตุรกี ฟลอเรนซ์พบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ทหารเสียชีวิตเกิดจากการติดเชื้อมากกว่าจากการสู้รบ เธอจึงได้ทุ่มเทและปรับปรุงสุขอนามัย ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน จนได้สมญานามว่า สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป (Lady of the Lamp) อันเนื่องมาจากกิจวัตรของฟลอเรนซ์ที่จะจุดตะเกียงเพื่อใช้ส่องทางในการตรวจดูแลผู้ป่วยในยามค่ำคืน จนกลายเป็นภาพติดตาและเป็นความหวังของทหารในค่ายเมื่อยามเห็นแสงสว่างจากตะเกียงในมือฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผลจากความอุตสาหะและการพยาบาลของเธอ ส่งผลให้อัตราการตายของทหารลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลอังกฤษและครอบครัวทหารต่างชื่นชมเธอเป็นอย่างมาก และร่วมใจกันก่อตั้งกองทุนไนติงเกลขึ้นมา เพื่อเป็นของขวัญให้กับเธอและกลายเป็นทุนสนับสนุนการพยาบาลจนถึงปัจจุบัน 

ภาพจาก : AFP

มารี กูว์รี นักวิทยาศาสตร์หญิงเจ้าของรางวัลโนเบล 2 สาขา 

Marie Curie หรือ มารี กูว์รี คือ นักวิทยาศาสตร์หญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก โดยเป็น 1 ใน 10 สตรีที่ฉลาดที่สุดในโลก และยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลถึง 2 สาขาด้วยกัน คือ ด้านฟิสิกส์วิทยา และวิทยาศาสตร์เคมี (โดย 1 ในสาขานั้น เธอได้ร่วมกับสามีซึ่งเสียชีวิตในอุบัติเหตุ)  อันเนื่องมาจากการค้นพบถึง 2 ธาตุด้วยกัน ได้แก่ ธาตุเรเดียม กับ โปโลเนียม โดยเธอได้ร่วมกับสามีตั้งต้นพบและให้ความหมายของ กัมมันตภาพรังสี อีกทั้งเธอยังเป็นคนริเริ่มในการนำรังสีไปใช้รักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ มารี กูว์รี ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนมนุษยชาติสู่ยุคพลังงานนิวเคลียร์ และเป็นผู้ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ และการแพทย์ พร้อมกับต้องต่อสู้ท่ามกลางแรงกดดันและอคติที่มีต่อผู้หญิงในวงการวิทยาศาสตร์ในสมัยนั้นด้วย