ต้องยอมรับว่า กระแสรักษ์โลก กำลังมาแรง เนื่องจากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์มาเนิ่นนาน จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน และภัยธรรมชาติที่นับวันยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าหลายคนอาจมองว่ามันสายไปแล้วหรือไม่ เพราะอาจสายเกินแก้ที่จะมาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยโลกให้กลับสภาพเดิมได้ แต่นั่นเป็นเพียงแค่คำพูดของคนที่เห็นต่างออกไป และยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ใส่ใจและลงมือทำกันมานานแล้ว เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงมองไม่เห็นหรือเลือกที่จะไม่มองในการกระทำของคนเหล่านั้น จนมาถึงตอนนี้ ที่เสียงธรรมชาติเกรี้ยวกราดดังขึ้นจนคนบนโลกเริ่มรู้สึกและได้หยุดที่จะหันมาตระหนักว่า ถึงเวลาที่ต้องรักษ์โลกแล้วหรือยัง
หนึ่งในเทรนด์รักษ์โลก มีเรื่องของ อาหาร ที่คนหันมาให้ความสนใจด้วยเช่นกัน เพราะอาหารนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนในอันดับต้น ๆ เนื่องจาก มีเทน ซึ่งเป็นก๊าซมลพิษที่เป็นองค์ประกอบของก๊าซเรือนกระจก มาจาก ขยะอาหาร ทั่วโลก ดังนั้น ทุกหน่วยภาคส่วนที่มีส่วนร่วม รวมไปถึงผู้บริโภค จะต้องหันตระหนักและร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาขยะเศษอาหารล้นโลก
โดยในปี 2023 ได้มีการสำรวจเทรนด์อาหารของโลก ปรากฏว่า ผู้คนหันมาบริโภคอาหารวีแกน และ แพลนท์เบส โดยเน้นกินผัก ลดเนื้อสัตว์ และกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น รวมไปถึงลดการดื่มแอลกอฮอล์ เปลี่ยนมาเป็นสายเฮลตี้กันไปโดยปริยาย ส่งผลให้มีอุตสาหกรรมอาหารประเภทแพลนท์เบสมากขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา
จากผลสำรวจของผู้อยู่ในวงการอาหาร หรือแม้แต่ Food Trend 2023 ได้ยืนยันว่า ปี 2023 คือ ยุคแห่งอาหารที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด19 และสงครามระหว่างรัฐเซีย – ยูเครน รวมไปถึงผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติธรรมชาติ แผ่นดินไหว ที่ตุรกี จนมีผู้คนบาดเจ็บและล้มตายนับหมื่นนับแสนคน ทำให้ผู้คนโหยหาอาหารที่เรียบง่าย มีประโยชน์ แต่ไร้ซึ่งการเบียดเบียน ทำให้เทรนด์อาหารปี 2023 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษ์โลกมากขึ้น โดยประกอบไปด้วยเทรนด์อาหารดังต่อไปนี้
เครื่องปรุงสำเร็จรูป
นักวิทยศาสตร์อาหารที่คิดค้นและพัฒนารูปแบบอาหาร ได้แจ้งว่าชนิดของอาหารสำเร็จรูปที่ได้การตอบรับและกำลังมาแรงในขณะนี้ คือ จำพวกนมผง สาหร่ายอบแแห้ง เครื่องปรุง ซอส และซุปสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่เพียงแค่เติมน้ำ ก็สามารถทานได้เลย ช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เร่งรีบให้กับคนยุคใหม่ได้ดี แถมยังช่วยประหยัดค่าขนส่ง ลดการใช้พลังงานทางโลจิสติกส์ ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
เทรนด์อาหารดั้งเดิม
จากช่วงโควิดระบาดที่ทำให้ต้องมีการอยู่แต่ในบ้าน ทำให้หลาย ๆ บ้านได้อยู่ร่วมกันมากขึ้น ได้ร่วมกันทำกับข้าว ทำอาหารด้วยกันมากขึ้น ส่งผลให้เมนูอาหารรสมือแม่ หรือกับข้าวฝีมือคุณย่าคุณยาย ได้มาตั้งบนโต๊ะในมื้ออาหาร และมีการโพส การแชร์ ผ่านช่องทางสื่อโซเชียล จนรู้สึกโหยหาอดีตและกลายเป็นกระแสเทรนด์อาหารพื้นบ้านที่ทำได้ไม่ยาก แต่ให้คุณค่าอาหารมากกว่า
น้ำผึ้งอัลเทอร์เนทีฟ หรือ Honey Alternative
จากเทรนด์วีแกน ทำให้หลายคนเลิกที่จะกินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ และส่วนประกอบที่มาจากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น ชีส นม เนย น้ำผึ้ง ผ้าไหม โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อินทผลัม (date) มาแรงในอุตสาหกรรมอาหารในสหรัฐอเมริกา โดยคนอเมริกาและอีกในหลายประเทศเลือกที่จะกิน อินทผลัม ผลไม้รสหวานจัด จากประเทศตะวันออกกลางแทนน้ำผึ้ง กลายเป็นน้ำผึ้งอัลเทอร์เนทีฟ แปลงเป็นไซรัปอินทผลัม ซอสอินทผลัม หรือจะกินอินทผลัมสด และอินทผลัมตากแห้ง แทนการเบียดเบียนวงจรชีวิตของผึ้ง
ผลผลิตเป็นมิตรต่อโลก
กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อโลก ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การรักษาผลผลิต และการขนส่ง โดยอาศัยหลักวิทยาศาสตร์มาช่วย ทั้งในส่วนของการบำบัดน้ำเสียนำกลับมาใช้ใหม่ ใช้ปริมาณน้ำในการปลูกลดลง ปรับดินให้มีคุณภาพดี สะอาด ไร้สารเคมี เป็นการเกษตรออแกนิก หรือปศุสัตว์ออแกนิก เมื่อผู้บริโภคหันมานิยมอาหารออแกนิกมากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องปรับตัวในรูปแบบการเกษตรแบบใหม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีลูกค้าซื้อผลผลิตในฟาร์มของตน
การปรุงโดยปราศจากขยะอาหาร (zero waste cooking)
จากประชากรที่เพิ่มขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว อีกทั้งพิษเศรษฐกิจ และสงครามระหว่างประเทศ รวมไปถึงภัยพิบัติธรรมชาติ ทำให้มีแนวโน้มว่าปริมาณอาหารอาจไม่เพียงพอต่อการผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งปริมาณขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นระหว่างในกระบวนการทำอาหารที่เพิ่มมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และอาจไม่เหลืออาหารเพียงพอต่อประชากรโลก ทำให้ zero waste cooking เป็นอีกเทรนด์อาหารมาแรง ปี 2023 โดยจะมีการปรับรูปแบบการปรุงอาหารปราศจากขยะเหลือทิ้ง ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงการเสริฟอาหารขึ้นโต๊ะให้กับผู้บริโภค
เครื่องดื่มโนว์แอล และ โลว์แอล (non-alcoholic / low-alcoholic)
เมื่อผู้บริโภค non-alcoholic จุดกระแสสนุกได้โดยไร้แอลกอฮอล์ ที่ไม่ว่าจะไปปาร์ตี้อะไร สนุกสุดเหวี่ยงแค่ไหน ก็ปฏิเสธที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทรนด์รักสุขภาพที่มาแรงเช่นกัน ทำให้บาร์เทนเดอร์ต้องฝึกชงเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ หรือ โลว์แอล อย่างค็อกเทล ม็อกเทล จำพวก ABV drink , alcohor free , free damm หรือ zero-proof cocktails เพื่อตอบสนองต่อการเรียกร้องของลูกค้าที่มาใช้บริการ