กฎหมายร้านอาหาร ที่ผู้ประกอบการควรรู้
สำหรับผู้ที่ต้องการจะเปิดกิจการร้านอาหาร หรือกำลังอยู่ขั้นตอนดำเนินการ รวมไปถึงร้านอาหารที่เปิดให้บริการแล้ว ควรรู้ข้อกฏหมายร้านอาหาร เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาในภายหลัง โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีพื้นที่ของร้านมากกว่า 200 ตารางเมตร จะต้องขออนุญาตประกอบกิจการต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และสามารถเปิดดำเนินการได้เมื่อได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี และจะต้องยื่นคำขอต่อใบอนุญาตก่อนวันหมดอายุ ทั้งนี้เมื่อต้องการจะโอนกิจการให้แก่บุคคลอื่น หรือต้องการเลิกกิจการ ก็จะต้องทำการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
กฏกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 หรือที่มักจะเรียกกันว่า “หลักสุขาภิบาลอาหาร” ซึ่งเป็นอีกข้อบังคับที่กิจการร้านอาหารทุกร้านจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากร้าน มิฉะนั้นจะเข้าข่ายทำผิดข้อกฏหมายร้านอาหารและมีโทษได้ ดังนี้
- ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารโดยไม่มีใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารโดยไม่มีหนังสือรับรองแจ้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารต้องแสดงใบอนุญาต หรือหนังสือรับรองการแจ้งโดยเปิดเผย และสามารถเห็นได้ง่ายในบริเวณร้านอาหาร ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท
การยื่นคำขอใบอนุญาต การขอหนังสือรับรองการแจ้ง และการต่ออายุใบอนุญาต สามารถยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ตามท้องถิ่นที่ต้องการเปิดกิจการ
- สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร
- สำนักงานเทศบาล
- สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
- สำนักงานเมืองพัทยา
เราไปดูข้อกำหนด“หลักสุขาภิบาลอาหาร” ของสถานที่จำหน่ายอาหารว่ามีอะไรบ้าง
หลักสุขาภิบาลสถานที่จำหน่ายอาหาร
- สถานที่จำหน่ายอาหารต้องสะอาด แข็งแรง ไม่ทรุดโทรมหรือชำรุด มีที่ล้างมือ หรืออุปกรณ์ทำความสะอาดมือ มีสภาพดี มีที่ระบายอากาศเพียงพอ
- มีห้องน้ำห้องส้วมสภาพดี พร้อมอ่างล้างมือ มีจำนวนเพียงพอ พร้อมใช้งาน สะอาด มีการระบายน้ำดี แยกเป็นสัดส่วน มีฉากกั้นอย่างเหมาะสม ประตูห้องน้ำปิดตลอดเวลา และประตูห้องน้ำไม่ควรเปิดโดยตรงบริเวณประกอบอาหาร
- ต้องมีเครื่องมือป้องกันอัคคีภัย รวมไปถึงอุปกรณ์ในการใช้ประกอบอาหารจะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุด พร้อมใช้งาน มีความปลอดภัย
- มีการจัดการขยะมูลฝอย กำจัดขยะอาหาร ได้เป็นอย่างดี ไม่มีขยะเศษอาหารสกปรก
- มีการจัดการน้ำเสีย แยกไขมัน แยกเศษอาหาร ก่อนระบายน้ำทิ้งสู่ระบบระบายน้ำ ได้มาตรฐานตามกฏหมายว่าด้วยส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
- มีมาตรการป้องกันสัตว์ แมลง พาหะนำโรค รวมไปถึงสัตว์เลึ้ยง
- อาหารสดที่นำมาปรุงต้องล้างให้สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพดี เก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม เก็บแยกเป็นสัดส่วน อาหารเนื้อสัตว์ดิบเก็บในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ส่วนอาหารแห้งและเครื่องปรุงรส ต้องได้มาตรฐาน ไม่มีการปนเปื้อน เก็บในภาชนะที่ปิดสนิท
- ไม่เตรียมปรุงอาหารบนพื้น บริเวณหน้าหรือในห้องน้ำ ห้องส้วม เตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร
- น้ำที่นำมาปรุุงอาหารจะต้องเป็นน้ำสะอาด มีคุณภาพไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ของกรมอนามัย ส่วน“น้ำดื่ม” และเครื่องดื่มต่างๆ จะต้องบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร และทำความสะอาดภายนอกภาชนะก่อนให้บริการ ส่วนเครื่องดื่มที่ไม่ได้บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท จะต้องวางสูงจากพื้นไม่ต่ำกว่า 60 เซนติเมตร และ “น้ำใช้” ล้างหรือทำความสะอาดภายในร้านต้องเป็นน้ำประปา หรือน้ำที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำประปา
- “น้ำแข็ง” ที่ให้บริการในร้านจะต้องสะอาด เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด วางภาชนะสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และจะต้องใช้อุปกรณ์คีบหรือตักน้ำแข็งเสมอ ห้ามนำอาหารหรือสิ่งของแช่ในที่เก็บน้ำแข็งสำหรับบริโภค
- กรณีของสารทำความสะอาด วัตถุมีพิษ สารเคมี ต้องมีการติดฉลาก ป้ายคำเตือนติดชัดเจน เก็บแยกเป็นสัดส่วนและห้ามวางปะปนในบริเวณที่ประกอบและจำหน่ายอาหาร รวมถึงห้ามนำภาชนะบรรจุอาหารใช้บรรจุสารเคมี
- ห้ามใช้แอลกอฮอลล์ หรือ เมทานอล เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบ ปรุง หรืออุ่นอาหาร ยกเว้นเป็นแอลกอฮอล์แข็ง รวมไปถึงห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบและปรุงอาหารบนโต๊ะ หรือในบริเวณที่จำหน่ายและส่วนพื้นที่นั่งรับประทานอาหาร
- อุปกรณ์ ภาชนะที่ใส่อาหาร จะต้องเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัย เป็นภาชนะสำหรับอาหาร มีสภาพดี สะอาด เก็บวางไว้สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และมีการปิดคลุมป้องกันการปนเปื้อน แมลงและสัตว์นำโรค
- อุปกรณ์ในการใช้ประกอบอาหาร เช่น เตาแก๊ส ก๊าซหุงต้ม เตาไมโครเวฟ หม้อต้ม จะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่ชำรุด พร้อมใช้งาน มีความปลอดภัย
- ผู้ประกอบอาหารจะต้องไม่มีโรคติดต่อ หรือเป็นพาหะนำโรค และโรคผิวหนังต่างๆ มีการสวมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกัน และทำความสะอาดมืออย่างถูกต้องตามสุขอนามัยที่ดีก่อนปรุงอาหารทุกครั้ง หากมีบาดแผลจะต้องปกปิดแผลให้มิดชิด โดยเฉพาะแผลบริเวณมือ และควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอาหารด้วยมือที่มีแผลโดยตรง
สำหรับร้านอาหารที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายร้านอาหาร จะมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2560 ด้วยการระวังปรับ 50,000 บาท ดังนั้นเจ้าของร้านอาหารต่างๆ ไม่ควรมองข้ามข้อกำหนดกฏหมายเหล่านี้ แต่ควรศึกษาและดำเนินการให้ถูกต้อง เพื่อผลประโยชน์ในการประกอบกิจการได้อย่างราบรื่น