198 West 21th Street, NY
สุขภาพ ไลฟ์สไตล์

ทฤษฏีความขี้เกียจ ที่ผลลัพท์ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป

ขี้เกียจ คำสุภาพที่มักใช้ในการเขียนว่า เกียจคร้าน แต่ไม่ว่าใช้คำไหน ก็มักจะมีความหมายในแง่ลบ และถูกมองว่าเป็นเส้นขนาน เป็นตัวขัดขวางความสำเร็จ แต่ใครหลายคนอาจคิดไม่ถึง ว่าบางครั้งความขี้เกียจก็ดีกับการใช้ชีวิต และยังเป็นตัวผลักดันให้เจอกับความสำเร็จเร็วขึ้นได้ด้วย เอ๊ะ!! ใช่เหรอ ยังไง? นั่นแน่..อยากรู้แล้วใช่ไหมล่ะ บทความนี้จะมาว่าด้วยเรื่อง ทำไมการขี้เกียจในบางครั้ง ก็ส่งผลดีกับชีวิตได้ มาค่ะ ตามมาฟังเหตุผลกันเล๊ยยย

คนขี้เกียจมักจะฉลาด

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เราลองมาฟังประโยคหนึ่ง ที่ดังมากๆ ของ บิล เกตส์ ที่ว่า “ I choose a lazy person to do a hard job , because a lazy person will find an easy way to do it ”  ซึ่งแปลได้ว่า ผมเลือกคนที่ขี้เกียจให้ทำงานยาก ๆ เพราะพวกเขาจะหาทางที่ง่ายที่สุด เพื่อทำงานเหล่านั้นให้เสร็จ 

ซึ่งประโยคดังกล่าวทำให้เห็นว่า คนที่ขี้เกียจมักจะหาหนทางที่ทำให้งานของเขาสำเร็จได้ง่ายที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อจะได้กลับมานั่ง ๆ  นอนๆ เรื่อยเปื่อย สไตล์คนขี้เกียจอย่างไรล่ะ นั่นแสดงให้เห็นว่า พวกเขาน่ะ “ฉลาด” นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journey of Health Psychology ในปี 2015 ที่สนับสนุนประโยคิของ บิล เกตส์ ได้ดี จากการให้คนจำนวน 60 คนทำแบบทดสอบวัดความรู้และวิเคราะห์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มนักคิด (Thinkers) และ กลุ่มคนที่ไม่ชอบใช้ความคิด (Non – Thinkers) จากนั้นให้ทั้ง 2 กลุ่ม สวมสายรัดข้อมือเพื่อบันทึกกิจวัตรประจำวันของแต่ละคน โดยใช้เวลาทั้งหมด 7 วัน 

เมื่อครบตามกำหนด นักวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีคะแนน IQ สูง มักจะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมมากนัก แต่เอ็นจอยกับการนั่ง ๆ นอน ๆ เรื่อยเปื่อย ในขณะที่กลุ่มคนมีคะแนน IQ ต่ำ กลับเป็นกลุ่มคนที่ชอบการแอคทีฟ ชอบเล่นกีฬา หรือไลฟ์สไตล์แบบสังสรรค์สังคม ซึ่งมีข้อสรุปคร่าว ๆ ว่า คนที่ขี้เกียจมักจะใช้เวลาในการนึกคิด ทบทวน ทำให้มีสกิลการรู้จักตัวตนและบริหารตัวเองได้ดี และถ้าจะต้องทำอะไรสักอย่าง พวกเขามักจะหาวิธีที่ง่ายที่สุด และเร็วที่สุด เพื่อกำจัด task ออกไปจากชีวิตเร็ว ๆ และจะได้กลับมาขี้เกียจต่อ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนขี้เกียจมักจะเป็นคนฉลาดกว่าคนทั่วไป 

ขี้เกียจเพื่อสรรสร้างไอเดีย 

คริส เบลีย์ นักเขียน เจ้าของหนังสือ Hyperfocus : How to Be More Productive in a World of Distraction ได้เขียนไว้ในบทความที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ TIME ว่า “ช่วงเวลาที่เราขี้เกียจ เพียงแค่นั่ง ๆ นอน ๆ โดยไม่ทำอะไรเลย เป็นช่วงเวลาที่สมองสามารถทำงานได้ดี และอาจได้ไอเดียเจ๋ง ๆ ตอนช่วงที่ขี้เกียจนี่แหล่ะ เนื่องจากช่วงเวลาปกติ เรามักจะจดจ่อหรือโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ทำให้สมองและความคิดวุ่นวาย และอ่อนล้า แล้วจะเอาความคิดดี ๆ ไอเดียบรรเจิดมาจากไหนกันล่ะ แต่ตอนที่ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องไปจมจ่อมกับสิ่งรอบตัว ปล่อยใจสบาย ๆ สมองโล่ง ๆ และตอนที่ตั้งใจจะขี้เกียจนี่แหล่ะ ที่อาจทำให้คุณได้ไอเดียสุดเลิศ. 

ขี้เกียจให้สุขภาพดีขึ้น 

สำหรับคนที่บ้างาน หรือมักจะทำงานอยู่เสมอ จะทำให้เกิดอาการ burn out ได้ง่าย หมดไฟที่จะทำงานต่อไป ดังนั้นควรจะต้องใช้ ความขี้เกียจ ให้เป็นประโยชน์ เพื่อให้ได้ผ่อนคลายลงบ้าง และควรโฟกัสกับคุณภาพของงาน มากกว่าปริมาณของงาน เพราะการทำงานแบบหักโหม แม้จะได้ปริมาณที่มาก แต่อาจคุณภาพไม่ดี และยังมีผลต่อสุขภาพ เราจึงมักจะเห็นหลายคนที่ขยัน ทำงานหักโหม แต่ไม่นานสุขภาพร่างกายทรุดโทรม เจ็บป่วย จนไม่สามารถกลับมาทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ จนมีวลีที่ว่า “เมื่อคุณไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับบริษัทได้ เขาก็แค่หาคนใหม่มาแทนคุณ” 

ด้วยเหตุนี้ จงขี้เกียจเสียบ้าง เพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน แต่เราไม่ได้มาแนะให้คุณขี้เกียจจนทำให้งานเสียหาย หรือละทิ้งหน้าที่ของตนนะ แต่ขี้เกียจในที่นี้ คือ การลดทำงานหนัก ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ แต่ก็อยู่ในความพอดี ที่จะไม่กระทบต่อร่างกายและจิตใจ เพราะไม่มีใครมารับผิดชอบร่างกายของคุณ ดังนั้น จงใช้ความเกียจคร้านให้เป็นประโยชน์ซะ!