198 West 21th Street, NY
สารปนเปื้อนในน้ำดื่มที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง
สุขภาพ

สารปนเปื้อนในน้ำดื่มที่พบได้บ่อยมีอะไรบ้าง 

ร่างกายของคนเราประกอบไปด้วย “น้ำ” มากถึง 70%  ด้วยเหตุนี้เราจึงควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำไปในรูปแบบต่าง ๆ ในแต่ละวัน เช่น ปัสสาวะ อุจจาระ เหงื่อ น้ำตาล เป็นต้น และเป็นการรักษาความสมดุลให้กับร่างกาย และนอกจากนี้ น้ำ ยังช่วยในเรื่องของสุขภาพดี บำรุงหัวใจ เลือดไม่หนืด เลือดไหลเวียนได้ดี สมองปลอดโปร่ง กระตุ้นการเผาผลาญ และช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้น ไม่เหี่ยวย่นจนเกิดริ้วรอยก่อนวัย ทำให้แลดูอ่อนเยาว์กว่าอายุจริง เรียกได้ว่า น้ำ เป็นยาดีต่อสุขภาพเลยทีเดียว 

เรามักจะรณรงค์ให้ดื่มน้ำเปล่าเพื่อสุขภาพ แต่รู้ไหมว่า น้ำใส ๆ ที่เห็นมีอะไรปนเปื้อนอยู่บ้าง ด้วยความใสไร้สี ทำให้ตาเปล่าของเราไม่สามารถมองเห็นสิ่งที่แฝงตัวอยู่ โดยเฉพาะเชื้อโรคขนาดเล็ก ดังนั้นมีจำนวนคนไม่น้อยที่มีอาการป่วยจากการดื่มน้ำไม่สะอาด และบางรายก็อาจไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เพราะไม่รู้ตัวว่าได้รับเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนในน้ำใส ๆ ไร้สี การเลือกน้ำดื่มจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ 

เราได้รวบรวมข้อมูลสารปนเปื้อนที่พบในน้ำดื่มได้บ่อย จาก Chula Zero Waste เพื่อมาแนะนำและเตือนให้ระมัดระวังและใส่ใจในการเลือกดื่มน้ำที่ถูกสุขอนามัย และเพื่อป้องกันความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากการดื่มน้ำที่มีสารปนเปื้อน 

สารปนเปื้อนในน้ำที่พบได้บ่อย

โคลิฟอร์ม (Coliform bacteria) 

โคลิฟอร์ม (Coliform bacteria)

โคลิฟอร์ม คือ แบคทีเรียในกลุ่มแกรมลบ ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะมีออกซิเจนหรือไม่ก็ตาม โดยจะพบในสิ่งแวดล้อมทั่วไป ในน้ำ ในดิน และในพืช นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในสัตว์เลือดอุ่น และในลำไส้มนุษย์ โคลิฟอร์มสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานกว่าแบคทีเรียชนิดอื่น แต่ไม่ทนความร้อน จึงสามารถฆ่าได้ด้วยความร้อน การพาสเจอไรซ์ หรือระบบกรองน้ำของเครื่องกรองน้ำที่มีคุณภาพ หากได้รับโคลิฟอร์มในปริมาณที่ร่างกายกำจัดไม่ทัน จะทำให้มีอาการท้องเสีย ปวดท้อง มีไข้ 

อีโคไล (E.coli) 

E. Coli

E.coli ย่อมาจาก Escherichia coli หรือที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ อีโคไล คือ แบคทีเรียในลำไส้ของคนและสัตว์ มีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีโคไลน์เป็นแบคทีเรียชนิดเดียวกับโคลิฟอร์ม อาการของโรค คือ ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ แต่อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน และอ่อนเพลียร่วมด้วย แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีรักษาโรคจากเชื้อแบคทีเรียอีโคไลให้หายขาดได้ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นภายใน 5-10 วัน แต่สำหรับผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง ไตวาย ความดันโลหิตสูง จาก Hemolytic Uremic Syndrome หรือ HUS (ฮีโมไลติกยูเลมิก) และอาจอันตรายจนถึงชีวิตได้ 

โลหะหนัก (Heavy Metal) 

โลหะหนักในน้ำดื่ม
photo from brlabsinc

โลหะหนัก คือ ธาตุที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำ 5 เท่า บางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่บางชนิดมีโทษต่อร่างกาย และถ้าหากได้รับในปริมาณมากก็มีอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน การได้รับสารโลหะเข้าสู่ร่างกายได้มากที่สุด คือ การกิน ซึ่งการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำนั้นมักเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตน้ำดื่ม โดยอาจปนเปื้อนในภาชนะบรรจุน้ำ หรือแหล่งน้ำนั้นมีการปนเปื้อนโลหะหนักอยู่แล้ว โลหะหนักที่มักพบได้ในน้ำดื่ม ได้แก่ 

  • เหล็ก (Iron : Fe)  หากได้รับการสะสมในร่างกายมากเกินไป จะส่งผลต่อการทำงานระบบการย่อย เลือดแข็งตัวช้า ความดันโลหิตลด ตับเสื่อมสภาพ และประสิทธิภาพของเอนไซม์ในร่างกายลดลง 
  • แมงกานีส (Manganese : Mn) เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไป จะส่งผลให้เกิดความอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เยื่อระบุทางเดินอาหารอักเสบ และอาจไปทำลายระบบประสาทจนกลายเป็นอัมพาต 
  • ทองแดง (Copper : Cu) ร่างกายที่มีทองแดงมากกว่า 100 มิลลิกรัม จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน เม็ดเลือดแดงแตกตัว อาจทำให้การทำงานของตับเสื่อมประสิทธิภาพ และอาจทำให้ตับแข็งหรือเกิดอาการคลุ้มคลั้งได้หากมีปริมาณทองแดงสะสมในร่างกาย 25-30 มิลลิกรัม / น้ำหนักตัว 
  • ปรอท (Mercury : Hg) คือ โลหะในรูป methyl และ ethyl ส่งผลโดยตรงต่อระบบประสาทตา ทำให้ตามัว มองไม่ชัด ระบบประสาทความจำเสื่อม ท้องเสีย และปวดท้อง 

มาตรฐานน้ำดื่มของกรมควบคุมมลพิษ 

  ลำดับ          โลหะหนัก    หน่วย   เกณฑ์กำหนดสูงสุด
      1        เหล็ก (Fe)   มก./ล.               0.5 
    2     แมงกานีส (Mn)    มก./ล.               0.3
    3     ทองแดง (Cu)   มก./ล.               1.0
    4     ปรอท  (Hg)   มก./ล.               0.001

เชื้อโรคที่มากับน้ำที่ไม่สะอาดก่อให้เกิดโรคอันตรายต่อสุขภาพทั้งแบบฉับพลัน และการสะสมในระยะยาว โดยส่วนใหญ่เชื้อโรคที่มาพร้อมสารปนเปื้อนเหล่านี้ ได้แก่ เชื้ออีโคไลและเชื้อโคลิฟอร์ม ก่อให้เกิดอาการป่วยดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 

ใครจะคาดคิดว่าน้ำใส ๆ ที่เราดื่มแต่ละแก้วในแต่ละวันจะมีสารปนเปื้อนอะไรบ้าง แน่นอนว่า น้ำเปล่า ยังคงเป็นน้ำที่ดีที่สุด เพียงแต่เราต้องเลือกน้ำที่จะดื่ม หรือเลือกหาอุปกรณ์ตัวช่วย เช่น เครื่องกรองน้ำ ที่มีระบบฆ่าเชื้อโรคและสารปนเปื้อนในน้ำ โดยเฉพาะสารทั้ง 4 ตัวข้างต้น เพื่อให้น้ำทุกหยดที่เราดื่มเข้าไปนั้น เป็นน้ำเปล่าสะอาด ไร้สารปนเปื้อน จนก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพตามมาในอนาคต