Food waste management กับเมืองไทย ทำได้จริงหรือแค่จินตนาการ
ปัจจุบันมีการรณรงค์คัดแยกขยะมากขึ้น หลังจากที่หลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจในเรื่องของ “ขยะ” อันเป็นอีกสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน โดยหลายหน่วยงานมีการร่วมมือในการให้ความรู้ต่าง ๆ เพื่อเป็นการปลูกจิตสำนึกให้พลเมืองของตนมีการอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการผ่านแนวคิด “3R” (Reduce Reuse Recycle) คือ ใช้ให้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ รวมไปถึงแนวทางการลดขยะอาหารให้เหลือศูนย์ หรือ Zero Waste Management ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายประเทศให้ความสนใจ และประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน
Zero Waste Management มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการลดปริมาณขยะอาหารให้เป็น Zero food waste คือ การลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดทิ้งเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ โดยเริ่มจากการผลิตสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ การเลือกบริโภคสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ บริโภคแต่พอดี การสรรสร้างงานใหม่ ๆ จากวัสดุเหลือใช้ การรณรงค์และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง จนเกิดระบบการหมุนเวียนจน ขยะ = 0
ดูได้จากประเทศฝรั่งเศสที่มีการปรับรูปแบบวิถีชีวิตประชากรในประเทศด้วยแนวคิด Zero Waste จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะวิธีจัดการอาหารเหลือ ๆ ที่นำมากลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจนแทบไม่มีขยะอาหาร (food waste) เนื่องจากในประเทศฝรั่งเศสได้มีมาตรการจริงจัง สั่งห้ามซุปเปอร์มาเก็ตและร้านอาหารต่าง ๆ ทิ้งเศษอาหารโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับถึง 4,500 เหรียญ ด้วยเหตุนี้ทำให้เหล่าบรรดาห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารใหญ่ ๆ กว่า 9,000 แห่งทั่วประเทศ ร่วมมือกับทางมูลนิธิต่าง ๆ ด้วยการบริจาคอาหารก่อนวันหมดอายุ อาทิเช่น นม ชีส โยเกิร์ต ผลไม้ ขนมปัง พิซซ่า และอาหารอื่น ๆ นำไปแจกจ่ายแก่คนไร้บ้านและผู้ยากไร้ โดยมีอาสาสมัครนับหมื่นคนคอยทำหน้าที่นำอาหารดังกล่าวไปส่งมอบ นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ด้าน Food Sustainability แก่นักเรียนนักศึกษา และเหล่าบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ ต้องรายงานการทิ้งเศษอาหารในรายงานสิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการร้านอาหารทุกประเภทจะต้องมีการเตรียมถุงให้ลูกค้าห่ออาหารที่ทานเหลือในร้านนำกลับไปบ้านด้วย จากความสำเร็จในการใช้ Food waste management ทำให้ประเทศฝรั่งเศสกลายเป็นประเทศที่จัดการกับขยะอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพติดอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว
ประเทศไทยเองก็ได้มีการนำระบบแนวคิด Food Waste มาปรับใช้มากขึ้นในปัจจุบัน โดยเริ่มจากระบบธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหารใหญ่ ๆ ที่มักจะมีการทิ้งเศษอาหารเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน มีการดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยงานวิจัย food waste ในไทยพบว่า ขยะเศษอาหาร (Food waste) เกิดจาก 4 สาเหตุส่วนใหญ่ ได้แก่
- เศษอาหารเน่าเสียจากการเก็บรักษา ซึ่งเกิดจากการซื้อมาเก็บกักตุนมากเกินไป กินไม่ทันจนอาหารหมดอายุหรือเน่าเสีย จึงต้องกำจัดทิ้ง
- เศษอาหารจากการเตรียมสำหรับปรุงอาหาร ด้วยการเด็ด การหั่น การตัดส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง หรือส่วนที่ไม่สวยทิ้ง
- เศษขยะอาหารที่เหลือในจาน ตักปริมาณมากเกินไป ทานไม่หมด
- เศษอาหารที่เหลือจากการจัดบุฟเฟ่ต์โรงแรม งานสังสรรค์ งานจัดเลี้ยงตามธุรกิจร้านอาหาร ที่มักจะมีการทำเมนูอาหารในปริมาณมากเกินไป ทำให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้งจากในจานลูกค้ามากถึง 60% และอีก 30% จากอาหารเหลือจากการไม่ถูกตักรับประทาน และอีก 10% จากขยะอาหารที่ใช้ตกแต่งความสวยงามบนจาน ทำให้โรงแรมและร้านอาหารส่วนใหญ่มีการทิ้งขยะอาหารมากถึง 140 กิโลกรัม / วัน
สำหรับวิธีแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง จะต้องมุ่งเน้นในส่วนของปริมาณขยะในจานลูกค้าที่ใช้บริการงานโรงแรม และร้านอาหารต่าง ๆ ด้วยการทำการ์ดที่สื่อถึงคุณค่าปริมาณขยะที่ลดลง หรือการนำอาหารส่วนเกินที่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้แทนการเหลืออาหารทิ้ง เพื่อเป็นการกระตุ้นทั้งในสิ่งที่ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารที่ควรรู้ รวมถึงผู้บริโภคที่ใช้บริการได้รับรู้ว่าตัวเขาเองก็มีส่วนในการช่วยลดขยะอาหารได้เช่นกัน เพื่อให้เศษอาหารที่ต้องกำจัดทิ้งลดน้อยลง และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ด้วยการคัดแยกขยะเศษอาหารนำไปทำปุ๋ย เพื่อส่งมอบให้ชาวเกษตรกรได้นำไปใช้ในด้านเกษตรอินทรีย์ต่อไป ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างแท้จริง การสูญเสียอาหาร (Food Loss) ลดลงจนกลายเป็นศูนย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและสามารถทำได้อย่างยั่งยืน
ซึ่งนั่นก็ต้องเป็นการให้ความร่วมมืออย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ทั้งในด้านผู้นำ ผู้บริหาร ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ รวมไปถึงผู้บริโภค ประชาชนทุกคน เพราะ “ขยะอาหาร” มาจากมนุษย์ทุกคนเป็นคนสร้าง การกำจัดขยะเศษอาหรให้เหลือ “ศูนย์” ก็ย่อมต้องเป็นหน้าที่ของมนุษย์เช่นกัน